วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ทฤษฎีจิตสังคม (Erikson) ขั้น 7 และ ขั้น 8

ขั้นที่ 7 ความเป็นห่วงชนรุ่นหลัง ความคิดถึงแต่ตนเอง (Generativity vs Stagnation) อีริควันอธิบายคำว่า Generativity ว่าเป็นวัยที่เป็นห่วงเพื่อนร่วมโลกโดยทั่วไป หรือเป็นห่วงเยาวชนรุ่นหลัง อยากจะให้ความรู้ สั่งสอนคนรุ่นหลังต่อไป คนที่แต่งงานมีบุตร ก็สอนลูกหลาน คนที่ไม่แต่งงาน ถ้าเป็นครูก็สอนลูกศิษย์ ถ้าเป็นนายก็สอนลูกน้อง หรือช่วยทำงานทางด้านศาสนา เพื่อที่จะปลูกฝังให้คนรุ่นหลังเป็นคนดีต่อไป คนวัยนี้ บางคนสนใจแต่ตนเองไม่สนใจหรือเป็นห่วงคนอื่น เป็นคนที่ไม่มีความไว้วางใจคนอื่น จึงไม่สามารถที่สอน หรือถ่ายทอดวัฒนธรรมให้ชนรุ่นหลังได้ แม้แต่ลูกของตนเอง การแต่งงานและมีลูก หรือต้องการจะมีลูกไม่ได้เป็นสิ่งรับรองว่าตนอยู่ในขั้น Generativity คนที่มีปัญหาในวัยนี้จะรัก ตัวเองมากกว่า รักคนอื่น และไม่ยอมที่จะเสียสละเวลาทำงานช่วยเหลือคนอื่น ชอบอยู่คนเดียว มากกว่าและห่วงแต่ตนเอง

ขั้นที่ 8 ความพอใจในตนเอง ความสิ้นหวังและความไม่พอใจในตนเอง (Ego Integrity vs Despair) วัยนี้เป็นระยะบั้นปลายของชีวิต ฉะนั้นบุคลิกภาพของคนวัยนี้ มักจะเป็นผลรวมของวัย7 วัยที่ผ่านมา ผู้มีอาวุโสบางท่านยอมรับว่า ได้มีชีวิตที่ดี และได้ทำดีที่สุด ยอมรับว่าตอนนี้แก่แล้ว และจะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข จะเป็นนายของตนเอง และมีความพอใจใน สภาพชีวิตของตน ไม่กลัวความตาย พร้อมที่จะตาย ยอมรับว่า คนเราเกิดมาแล้ว ก็จะต้องตาย ตรงกันข้ามกับคนที่มีปัญหา ในชีวิตขั้นต้นๆ และแก้ไขไม่ได้ ปัญหาเหล่านั้นยังติดตามมาทุกระยะ มักจะเป็นบุคคล ที่ไม่มีความพอใจในตัวเอง รู้ว่าตัวไม่มีประโยชน์ ถือว่าชีวิตมีแต่ความไม่สมหวัง ก็จะมีโลกอยู่ในวัยบั้นปลายแบบผิดหวัง และกลัวความตาย เพราะยังคิดว่าชีวิตไม่สมบูรณ์ ควรจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ คิดว่าตนเกิดมาทั้งชาติก็ยังไม่เคยทำอะไรที่เป็นประโยชน์ จึงไม่มีความพอใจ ในตนเอง มีความผิดหวังในชีวิต และสายเกินไปที่จะแก้ไขได้


สรุปแล้ว ทฤษฎีของอีริคสันเป็นทฤษฎีที่อธิบายพัฒนาการของชีวิต ตั้งแต่วัยทารกจนถึงวัยชรา อีริคสันเชื่อว่า วัยแรกของชีวิต เป็นวัยที่เป็น รากฐานเบื้องต้น และวัยต่อๆ มาก็สร้างจากรากฐานนี้ เหมือนกับการสร้างบ้าน จะต้องมีรากฐานที่ดี ถ้ารากฐานไม่ดี ก็จะต้องหาทาง แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้บ้านอยู่อย่างสบาย แข็งแรงไม่ล้ม สำหรับชีวิตของคนก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากในวัยทารก เด็กทารกได้รับการ ดูแลอย่างดี และอบอุ่น ก็จะช่วยให้เด็กมี ความเชื่อถือในผู้อื่นที่อยู่รอบๆ ตั้งแต่บิดา มารดา พี่เลี้ยง เป็นต้น ซึ่งเป็นรากฐานที่จะช่วยให้เด็กช่วยตัวเอง มีความตั้งใจ ที่จะทำอะไรเอง และเมื่อใดโตขึ้น ก็จะเป็นผู้ที่รู้สึกว่าตนเองมีสมรรถภาพ ที่จะทำอะไรได้ (Competence) และนอกจากนี้ จะมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง และผู้อื่น สามารถที่จะยอมรับสิ่งที่ดี และไม่ดีของตนเองและผู้อื่น สามารถที่จะสนิทสนมกับผู้อื่น ทั้งเพศเดียวกัน และเพศตรงข้าม โดยสนิทใจ โดยไม่มีความอิจฉาว่า เพื่อนจะดีกว่าตน เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้เสียสละไม่เห็นแก่ตัว ดูแลผู้ที่เยาว์กว่า เช่น ลูกหลาน หรือนักเรียน เต็มใจที่ช่วยให้ความรู้ ถ่ายทอดศิลปวิทยาให้คนรุ่นหลัง และเมื่ออยู่วัยชราก็จะมีความสุข เพราะได้ทำประโยชน์ และหน้าที่มาอย่างเต็มที่แล้ว อีริคสันถือว่า ชีวิตของคนเราแต่ละวัยจะมีปัญหา หรือประสบปัญหาบ้างเป็นธรรมดา แต่บางคนก็จะสามารถแก้ปัญหาด้วยตนเอง และ ดำเนินชีวิต ไปตามขั้น แต่บางคนก็มีปัญหาที่อาจจะแก้เองไม่ได้ อาจจะต้องไปหาจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เพื่อช่วยแก้ปัญหา แต่ บุคลิกภาพ ของแต่ละบุคคล เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และทุกคนมีโอกาสที่จะแก้ไขบุคลิกภาพของตน และผู้ใหญ่ที่อยู่แวดล้อม ก็มีส่วนที่จะช่วยส่งเสริม หรือแก้ไขบุคลิกภาพของผู้เยาว์ที่อยู่ในความดูแลให้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข


แหล่งอ้างอิง 

หนังสือจิตวิทยาพัฒนาการ   หน้า 27-31